Corporate Actions

 

Corporate Actions คืออะไร

Corporate actions (CAs) คือการดำเนินการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ซึ่ง CAs บางอย่างอาจเป็นในรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นไม่จำเป็นต้องตัดสินใจ (mandatory) หรือ แบบที่สามารถใช้สิทธิยอมรับหรือปฏิเสธก็ได้ (voluntary) ตัวอย่างเช่น การประกาศจ่ายเงินปันผล การจ่ายเป็นหุ้นปันผล การแตกหุ้น การเพิ่มทุนแบบให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิม การซื้อคืนหุ้นจากตลาด หรือการควบรวมกิจการ เป็นต้น

 

Mandatory vs Voluntary

Mandatory Corporate Actions Voluntary Corporate Actions (VCA)
ผู้ถือหุ้นไม่ต้องตัดสินใจ ผู้ถือหุ้นต้องตัดสินใจ ซึ่งอาจเป็นการไม่เข้าร่วมใน corporate action นั้นๆก็ได้
ตัวอย่างเช่น
  • ปันผลเป็นเงินสด
  • การจ่ายคืนทุน
  • หุ้นปันผล / หุ้นโบนัส
  • การแตกหุ้น / การรวมหุ้น
ตัวอย่างเช่น
  • การเลือกรูปแบบของปันผล / การเลือกรับปันผลเป็นหุ้น
  • การใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน
  • การตอบรับการเสนอซื้อหุ้น (tender offers)
  • การมอบฉันทะเพื่อออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Proxy voting)
วันสำคัญที่ควรทราบ:
  • Ex-date: คือวันที่คุณจะต้องมีหุ้นอยู่ในมือ เพื่อที่จะมีสิทธิใน corporate action นั้น เช่น กรณีบริษัทประกาศจ่ายเงินปันผล คุณต้องซื้อหุ้นก่อนวัน “ex-dividend” (XD) เพื่อที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล
  • Record date: คือวันที่บริษัทจะพิจารณารายชื่อผู้ถือหุ้น ว่าใครบ้างที่มีสิทธิใน corporate action นั้น
  • Payment date: คือวันที่ผู้ที่มีสิทธิใน corporate action นั้นจะได้รับสิทธิดังกล่าว เช่นได้รับเงินสด หรือได้รับหุ้น เป็นต้น
 

รูปแบบโดยทั่วไปของ Corporate Actions

Dividend Choice / Reinvestment

ในกรณีนี้ ผู้ถือหุ้นอาจเลือกว่าจะรับปันผลเป็นเงินสดหรือเป็นหุ้นก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้เลือกภายในกำหนดเวลา ก็จะได้รับในรูปแบบตามที่บริษัทกำหนดไว้ (default option)

ทำไมบริษัทถึงจ่ายปันผลเป็นหุ้น? ในมุมมองของบริษัท ก็เพื่อเก็บเงินสดไว้เพื่อขยายธุรกิจ ในมุมมองของผู้ถือหุ้น การได้เป็นหุ้นปันผลทำให้เป็นโอกาสที่จะถือหุ้นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นปันผลจะออกมาที่ราคาต่ำกว่าราคาตลาด

Rights Issue

เป็นกรณีที่ให้สิทธิผู้ถือหุ้นในการซื้อหุ้นเพิ่ม ซึ่งโดยปกติแล้วหุ้นใหม่จะออกมาที่ราคาต่ำกว่าราคาตลาด

ปกติแล้วบริษัทจะเลือกออก Right Issue เพื่อเพิ่มทุนโดยการให้สิทธิกับผู้ถือหุ้นเดิม แทนที่จะใช้การก่อหนี้ (ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินเพิ่ม) หรือแทนที่จะออกหุ้นใหม่เสนอขายให้กับนักลงทุนอื่นโดยการขายแบบเฉพาะเจาะจง หรือ private placement (ซึ่งจะทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทลดลง)

จำนวนหุ้นใหม่ที่ผู้ถือหุ้นเดิมสามารถซื้อได้จะเป็นสัดส่วนต่อจำนวนหุ้นที่คุณถือครองอยู่ ตัวอย่างเช่น สัดส่วน 3 ต่อ 10 หมายความว่า คุณสามารถซื้อหุ้นใหม่ได้ 3 หุ้น สำหรับทุกๆ 10 หุ้นเดิมที่คุณถืออยู่ในมือ

Right Issue มี 2 แบบคือ renounceable และ non-renounceable

  • “Renounceable” คือสิทธิ (rights) ที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคุณสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิเลยก็ได้ หรืออาจขายสิทธินั้นในตลาด หรือปล่อยให้สิทธินั้นหมดอายุไป หรืออาจจะซื้อสิทธินั้นเพิ่มขึ้นโดยผ่านตลาดหลักทรัพย์ และแม้แต่กระทั่งแสดงเจตจำนงเพื่อขอซื้อสิทธิส่วนเพิ่มจากบริษัทก็ได้
  • “Non-renounceable” คือสิทธิที่ไม่สามารถทำการซื้อขายได้ คุณจะมีทางเลือกว่าจะใช้สิทธินั้น หรือปล่อยให้สิทธิหมดอายุไป

หมายเหตุสำคัญ: โดยปกติแล้ว ราคาหุ้นในตลาดจะปรับลดลงหลังจาก Ex-Date 1 วัน (เพราะเป็นวันที่หุ้นในตลาดไม่มีสิทธิติดมาด้วยอีกแล้ว) ซึ่งถ้าคุณไม่ใช้สิทธิหรือขายสิทธิ เช่นปล่อยให้สิทธินั้นหมดอายุไป คุณก็จะขาดทุนจากราคาหุ้นที่ปรับลง และในบางกรณีก็อาจขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญได้

Tender Offer

คือการเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม โดยผู้ที่ต้องการซื้อหุ้นในสัดส่วนที่สูง โดยอาจเป็นการเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ โดยปกติแล้วการทำ Tender Offer จะมาพร้อมๆกับการเข้าซื้อเพื่อครอบครองกิจการ โดยจะเสนอซื้อหุ้นเป็นเงินสด แต่ในบางกรณีที่เป็นการเข้าซื้อเพื่อรวมกิจการกัน (merger and acquisition, M&A) คุณก็อาจได้รับข้อเสนอเป็นหุ้นของบริษัทผู้ซื้อ ในการแลกเปลี่ยนกับหุ้นที่คุณถืออยู่ในบริษัทที่เป็นเป้าหมายของการเข้าซื้อกิจการนั้น

Tender Offer อาจเป็นแบบมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงือนไขก็ได้
การเสนอซื้อแบบมีเงื่อนไข (conditional offer) หมายถึงการเสนอซื้อหุ้นซึ่งมีเงื่อนไขพ่วงมาด้วย เช่น รายการเสนอซื้อจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้จะซื้อนั้นจะต้องได้หุ้นอย่างน้อย 51% ของหุ้นทั้งหมด ซึ่งหากผู้จะซื้อไม่ได้หุ้นตามเป้าหมาย การเสนอซื้อนั้นจะถูกยกเลิก เป็นต้น

การเสนอซื้อแบบไม่มีเงื่อนไข (unconditional offer) หมายถึงกรณีที่คำเสนอซื้อนั้นไม่มีเงื่อนไขกำหนดมาตั้งแต่ต้น หรือเป็นการเสนอซื้อแบบมีเงื่อนไข แต่ปรากฏว่าเงื่อนไขที่กำหนดนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว จึงเปลี่ยนรูปมาเป็น unconditional offer

ตามปกติแล้ว ราคาเสนอซื้อหุ้น มักจะสูงกว่าราคาตลาด

ผลของการเสนอซื้อหุ้น tender offer

ถ้าคุณตอบรับคำเสนอซื้อ

  • ถ้ามีผู้แจ้งความประสงค์ว่าจะขายหุ้นตามคำเสนอซื้อรวมกันเกิน 51% ตามเงื่อนไข รายการเสนอซื้อจะสำเร็จ หุ้นของคุณจะถูกขายออกไปให้กับผู้เสนอซื้อและคุณก็จะได้รับเงินสดเข้ามา
  • แต่ถ้ามีผู้ที่ตกลงจะขายหุ้นไม่ถึงเป้าหมายที่ผู้เสนอซื้อกำหนด ก็จะทำให้คำเสนอซื้อนั้นถูกถอนออกไป ซึ่งก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงกับหุ้นในมือของคุณ

ถ้าคุณปฏิเสธคำเสนอซื้อ

  • ในกรณีที่บริษัทที่คุณถือหุ้นอยู่นั้น ได้ยกเลิกการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือถูกซื้อกิจการ คุณอาจจะต้องถูกบังคับให้ขายหุ้นที่คุณถืออยู่หรือหุ้นของคุณอาจถูกแปลงเป็นหุ้นของบริษัทที่เข้ามาซื้อกิจการ
  • ในบางกรณี ผู้ที่จะเข้ามาซื้อกิจการ อาจทำคำเสนอซื้อหุ้นอีกครั้งถ้าเขาไม่ได้รับจำนวนหุ้นตามที่ต้องการ ซึ่งในกรณีนี้ คุณก็อาจมีโอกาสอีกครั้งในการตัดสินใจว่าจะตอบรับคำเสนอซื้อหรือไม่

การมอบฉันทะในการออกเสียง Proxy Voting

ในฐานะของผู้ถือหุ้น คุณอาจมอบฉันทะให้บุคคลอื่นออกเสียงแทนคุณในการประชุมผู้ถือหุ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับวาระการประชุมที่นำเสนอ

วาระการประชุมผู้ถือหุ้นที่จำเป็นต้องมีขอมติผู้ถือหุ้นได้แก่ การประกาศจ่ายปันผล การเลือกตั้งกรรมการบริษัท ผลตอบแทนกรรมการ และการเข้าซื้อเพื่อรวมกิจการกัน (M&A)

Stock Split / Reverse Stock Split

“Stock Split” หรือการแตกหุ้น เป็นกรณีที่บริษัทตัดสินใจแบ่งจำนวนหุ้นให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น เช่น “1-for-2 stock split” หมายถึงหุ้นที่คุณถืออยู่ทุกๆ 1 หุ้น จะกลายเป็น 2 หุ้น แต่ว่าราคาหุ้นก็จะถูกปรับลดลงตามไปด้วย ซึ่งในกรณีนี้ราคาหุ้นก็จะเหลือเพียงครึ่งเดียวของราคาก่อนการแตกหุ้น ดังนั้นมูลค่าหุ้นทั้งหมดที่คุณถืออยู่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ปกติแล้ว บริษัทจะทำการแตกหุ้นเมื่อเห็นว่าราคาหุ้นสูงเกินไปและเกิดความลำบากขึ้นสำหรับนักทุนที่มีการซื้อขายหุ้นที่มีมูลค่ารายการน้อยๆ

“Reverse Stock Split” หรือการรวมหุ้น เกิดขึ้นเมื่อบริษัทต้องการให้จำนวนหุ้นน้อยลง เช่น “10-for-1 reverse stock split” หมายถึงหุ้นที่คุณถือทุกๆ 10 หุ้น จะกลายเป็น 1 หุ้น ซึ่งในกรณีนี้ราคาหุ้นจะถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าของราคาก่อนการรวมหุ้น ดังนั้นมูลค่าหุ้นทั้งหมดที่คุณถืออยู่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

หมายเหตุสำคัญ:“stock split” / “reverse stock split” จะทำให้จำนวนหุ้นและราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งเป็นลักษณะของ corporate action ที่คุณต้องระวังเพื่อจะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิดในการตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้น

 

ผลกระทบต่อหุ้น: จำนวนและราคา

  มีผลต่อจำนวนหุ้น มีผลต่อราคาหุ้น*
ปันผลเป็นเงินสด ไม่มี อาจมี ถ้าปันผลจำนวนสูง
ปันผลเป็นหุ้น มี อาจมี ถ้าปันผลจำนวนสูง
แตกหุ้น / รวมหุ้น มี มี
เพิ่มทุนแบบให้สิทธิผู้ถือหุ้นเดิม มี มี
การเสนอซื้อหุ้น มี ไม่มี
*ผลต่อราคาหุ้นที่เกิดจาก corporate action โดยตรง ไม่เกี่ยวกับภาวะตลาด

หมายเหตุสำคัญ :
ผลิตภัณฑ์การลงทุนทุกอย่างจะต้องอยู่ภายในกฏเกณฑ์ที่กลต.และธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นชอบเท่านั้น

เงื่อนไขการใช้บริการ - DBS Vickers Thailand

เงื่อนไขการใช้บริการ - DBS Group